1 การรู้สารสนเทศด้านการใช้ห้องสมุดของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ | Information Literacy in Library User : A Case Study of Maejo University Students | จิณาภา ใคร้มา | PULINET Journal

การรู้สารสนเทศด้านการใช้ห้องสมุดของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ | Information Literacy in Library User : A Case Study of Maejo University Students

จิณาภา ใคร้มา, น้ำใจ จุลพุ์ปสาสน์

Abstract


     การวิจัยเรื่อง การรู้สารสนเทศด้านการใช้ห้องสมุดของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อศึกษาประสบการณ์การใช้สารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าที่มีบริการในสำนักหอสมุดของนักศึกษา 2) เพื่อศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้สารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าในสำนักหอสมุดของนักศึกษา 3) เพื่อศึกษาความต้องการเพิ่มพูนทักษะการรู้สารสนเทศด้านการใช้ห้องสมุดของนักศึกษา 4) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้สารสนเทศ และความต้องการเพิ่มพูนทักษะการรู้สารสนเทศของนักศึกษา จำแนกตาม เพศ คณะ และชั้นปี กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 390 คน  ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นตามคณะที่สังกัด เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่า t-test  และ F-test  ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ประสบการณ์การใช้สารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้  นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้ห้องบริการหรือมุมบริการห้องอินเทอร์เน็ต ภายในสำนักหอสมุด โดยใช้บริการคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำรายงาน นิยมการสืบค้นสารสนเทศห้องสมุดจาก Web OPAC ของสำนักหอสมุด โดยสืบค้นจากช่องทางของหัวเรื่อง (Subject) นักศึกษาส่วนใหญ่ มีวิธีการเรียนรู้การใช้ห้องสมุดจากการศึกษาด้วยตนเอง

     ความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้สารสนเทศ งานวิจัยนี้ศึกษา 3 ด้านคือ ด้านความสำคัญและคุณค่าของสารสนเทศต่อการเรียนรู้ ด้านแหล่งสารสนเทศและการเข้าถึงสารสนเทศ และด้านจริยธรรมในการใช้สารสนเทศ ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษามีความเข้าใจทั้ง 3 ด้าน โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.99,  S.D = .64) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่านักศึกษามีความรู้ความเข้าใจระดับมากเช่นกันทุกด้าน

     ความต้องการเพิ่มพูนทักษะการรู้สารสนเทศด้านแหล่งเรียนรู้ ทำการศึกษา 2 ด้าน คือ ด้านทักษะและความรู้สารสนเทศ และด้านกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดเพื่อพัฒนาการรู้สารสนเทศ ผลการศึกษาพบว่านักศึกษามีความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.88, S.D = .57) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่านักศึกษามีความต้องการเพิ่มพูนทักษะการรู้สารสนเทศระดับมากเช่นกันทุกด้าน

     ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่านักศึกษาที่มีเพศ ชั้นปี และคณะที่ศึกษาต่างกัน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้สารสนเทศไม่แตกต่างกันซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐาน นักศึกษาที่มีเพศต่างกัน และคณะต่างกัน มีความต้องการเพิ่มพูนทักษะการรู้สารสนเทศไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐาน  ส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ศึกษาต่างกัน มีความต้องการเพิ่มพูนทักษะการรู้สารสนเทศแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สอดคล้องกับสมมติฐาน


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.



PULINET Journal : eISSN 2351- 048X
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
PULINET: Provincial University Library Network
pulinetjournal@gmail.com