การศึกษาความต้องการใช้บริการห้องสมุด สำนักวิทยบริการ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี | The Study of Student’s Demand of Library Services for Students Instructional Resources Center, Ubon Ratchathani University
Abstract
การวิจัยเรื่อง การศึกษาความต้องการใช้บริการห้องสมุด สำนักวิทยบริการ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการใช้บริการของผู้ใช้บริการของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านทรัพยากรสารสนเทศ ด้านบริการ ด้านสถานที่ รวมทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาห้องสมุด กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 11 คณะ 1 วิทยาเขต ซึ่งลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ 2/2558 โดยจัดเก็บข้อมูลจากนักศึกษากลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 10,198 คน ผ่านระบบเครือข่าย REG ของสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ
ผลการวิจัยพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ใช้บริการห้องสมุดสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้าหนังสือ หรือตำราทางวิชาการ (ร้อยละ 73.07) ใช้บริการห้องสมุดเดือนละ 2 -3 ครั้ง (ร้อยละ 25.13) ใช้บริการห้องสมุดช่วงเวลา 13.01 –16.30 น. (ร้อยละ 44.43) นักศึกษามีความต้องการให้ห้องสมุดเปิดก่อนสอบ (Final/Midterm) ตั้งแต่เวลา 08.30 – 22.30 น. จำนวน 3- 4 สัปดาห์ก่อนสอบ (ร้อยละ 51.04) ต้องการให้ห้องสมุดขยายเวลาเปิด ช่วงก่อนสอบ ให้เปิดบริการ 24 ชม. (ร้อยละ 41.28) ในด้านทรัพยากรสารสนเทศพบว่าทรัพยากรสารนิเทศของห้องสมุดสำนักวิทยบริการที่นักศึกษาใช้บริการมากที่สุดได้แก่ หนังสือประกอบการเรียน (ร้อยละ 77.81) นักศึกษาต้องการใช้หนังสือ/วารสาร ในรูปแบบตัวเล่ม (Hardcopy) (ร้อยละ 68.83) และนักศึกษาส่วนใหญ่มีความต้องการเพิ่มจำนวนหนังสือภาษาไทย (ร้อยละ 55.14) ด้านบริการ พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีความต้องการให้มีบริการรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย (ร้อยละ 66.82) ด้านสถานที่ พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีความต้องการให้เพิ่มจุดให้บริการถ่ายเอกสาร/น้ำดื่ม (ร้อยละ 64.68 ) ส่วนปัญหาด้านการใช้บริการห้องสมุด ในมิติที่ 1 คือปัญหาที่เกิดจากตัวนักศึกษา พบว่าปัญหาอันดับแรก นักศึกษาไม่ทราบจะเริ่มต้นจากตรงไหน (ร้อยละ 39.51) และมิติด้านห้องสมุดผู้ให้บริการ พบว่าปัญหาอันดับแรก คือหนังสือไม่อยู่ตามชั้นทำให้หาไม่พบ (ร้อยละ 34.87ผลการวิจัยมีการนำไปพัฒนาปรับปรุงให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการห้องสมุด สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยนำไปปรับปรุงในเรื่องการขยายการเปิดให้บริการตามความต้องการของนักศึกษา และจัดหาทรัพยากรสารสนเทศให้ตรงตามความต้องการโดยเฉพาะในส่วนของหนังสือตำราทางวิชาการ รวมทั้งการนำเอาปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ จากการให้บริการ มาเป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนารูปแบบการให้บริการของห้องสมุด สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.
PULINET Journal : eISSN 2351- 048X
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
PULINET: Provincial University Library Network
pulinetjournal@gmail.com