การพัฒนาบริการสอนการรู้สารสนเทศอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางไคเซ็น | Continuing Development of Information Literacy Services by Kaizen Approach
Abstract
ห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำแนวทางไคเซ็นมาใช้ในการพัฒนาบริการสอนการรู้สารสนเทศ ในการสอนเสริมกระบวนวิชา 651391 ไขปัญหาบูรณาการทางสัตวแพทย์ 1 และกระบวนวิชา 651393 ไขปัญหาบูรณาการทางสัตวแพทย์ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบริการสอนการรู้สารสนเทศของห้องสมุดอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางไคเซ็น และทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งสองกระบวนวิชา ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินงาน ดังนี้ 1) สังเกต ค้นหาปัญหาที่พบในการจัดการเรียนการสอน 2) สืบสวน โดยใช้เทคนิคการถาม 5Why เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา 3) คิดค้น หาวิธีปรับปรุงพัฒนา 4) สะสาง ดำเนินการกำจัดสิ่งที่พบว่าเป็นปัญหาในขั้นตอนของการทำงานปัจจุบัน โดยใช้เทคนิคการ “เลิก” “ลด” “เปลี่ยน” 5) ปฏิบัติ ทำการลงมือปฏิบัติ และ 6) ติดตาม ตรวจสอบผลลัพธ์จากการปฏิบัติ โดยนำแนวคิด PDCA มาปรับใช้
ผลจากการพัฒนาบริการสอนการรู้สารสนเทศ ทำให้ห้องสมุดได้มีรูปแบบการสอนเสริมในกระบวนวิชาที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลให้การเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาที่กำหนดไว้ จากการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่ลงเรียนกระบวนดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2560 พบว่า คะแนนสอบหลังเรียนของผู้เรียนสูงกว่าคะแนนสอบก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกปีที่เปิดการเรียนการสอน และผลจากการสำรวจความพึงพอใจ พบว่าระดับความพึงพอใจในภาพรวมต่อการสอนการรู้สารสนเทศของห้องสมุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2560 อยู่ในระดับมากที่สุด
การนำแนวทางไคเซ็นมาใช้ในการพัฒนาบริการสอนการรู้สารสนเทศ ทำให้บรรณารักษ์ผู้สอนได้มีแนวทางในการพัฒนาบริการสอนการรู้สารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้เรียนมีทักษะในการรู้สารสนเทศและทักษะในการเป็นพลเมืองโลก สามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในการคิดแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เกิดทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการพัฒนาไปสู่ “คนไทย 4.0” ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างแท้จริง
Full Text:
PDFRefbacks
- There are currently no refbacks.
PULINET Journal : eISSN 2351- 048X
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
PULINET: Provincial University Library Network
pulinetjournal@gmail.com