1 แนวทางการพัฒนาการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยพะเยา | Development of the Information Resources Purchasing to Teaching Support University of Phayao | ณัฐดานันท์ ยอดเมืองชัย | PULINET Journal

แนวทางการพัฒนาการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยพะเยา | Development of the Information Resources Purchasing to Teaching Support University of Phayao

ณัฐดานันท์ ยอดเมืองชัย

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการจัดซื้อ ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนนำเสนอแนวทางการพัฒนาการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคลากรสายบริการผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศภายในหน่วยงานที่มีห้องสมุดเป็นของตนเอง จำนวน 6 หน่วยงาน คือ 1. ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา 2. คณะพยาบาลศาสตร์ 3. คณะนิติศาสตร์ 4. คณะแพทยศาสตร์ 5. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สรุปผลการวิจัยกระบวนการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศ ดังนี้

1. การศึกษาผู้ใช้ พบว่ามีเพียงคณะพยาบาลศาสตร์ที่ไม่มีการศึกษาผู้ใช้ ซึ่งหากทำการศึกษาผู้ใช้กลุ่มนิสิตจะสามารถพิจารณาจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศตามความน่าเชื่อถือในตัวทรัพยากร ชื่อเสียง ประสบการณ์หรือคุณวุฒิของผู้แต่ง สำนักพิมพ์หรือผู้ผลิตทรัพยากรสารสนเทศได้ การศึกษาผู้ใช้กลุ่มอาจารย์จะสามารถพิจารณาจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหาสารสนเทศที่ต้องการประเภทหนังสืออ้างอิง ตำราและวารสารวิชาการ และการศึกษาผู้ใช้กลุ่มเจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไปจะสามารถพิจารณาจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหามุ่งที่จะให้ความรู้และความบันเทิงเป็นสิ่งสำคัญ ควรจัดซื้อหนังสือประเภททั่วไป วารสาร หนังสือและนิตยสาร เป็นต้น

2. การจัดทำนโยบายการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ พบว่าไม่มีหน่วยงานใดที่มีการจัดทำนโยบายการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการจัดทำนโยบายการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศของมหาวิทยาลัยพะเยาควรจะมีการระดมความคิด การแลกเปลี่ยน และการรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนผู้ใช้ทรัพยากรสารสนเทศเพื่อจะช่วยให้นโยบายที่กำหนดนั้นมีหลักการเป็นแนวคิดที่กว้างขวางและเป็นที่ยอมรับ โดยการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรสามารถใช้เป็นหลักฐานและลดข้อโต้แย้งในบางเรื่องหรือบางประเด็น นอกจากนั้นรายละเอียดในนโยบายงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและสามารถปรับปรุงแก้ไขได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และความต้องการของผู้ใช้

3. การคัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศ พบว่ามีเพียงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ที่ไม่มีการคัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศเนื่องจากไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อ ซึ่งหน่วยงานที่มีงบประมาณในการจัดซื้อควรรับเอานโยบายที่กำหนดไปดำเนินการตัดสินใจเลือกทรัพยากรสารสนเทศที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของผู้ใช้และตามนโยบายที่กำหนดไว้ สำหรับมหาวิทยาลัยพะเยาควรกำหนดงบประมาณในการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศตามความเหมาะสมของคณะหรือสาขาวิชาเพื่อจะสามารถได้ทรัพยากรสารสนเทศที่ตรงตามความต้องการและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ

4. การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ พบว่ามีเพียงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ที่ไม่มีการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศเนื่องจากมีเฉพาะหนังสือที่ได้รับบริจาคเท่านั้น ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจัดซื้อควรกำหนดแผนการจัดซื้อตามแผนปฏิบัติงานประจำปีเพื่อกำหนดขอบเขตและหน้าที่ในการจัดซื้อให้ชัดเจนและเหมาะสมกับระยะเวลาของปีงบประมาณ เพื่อให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายค่าจัดซื้อให้ร้านค้าได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัย สำหรับการแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศสามารถติดต่อประสานงานภายในและภายนอกของมหาวิทยาลัยโดยอาจจัดทำเป็นเครือข่ายห้องสมุดภายในหรือระหว่างสถาบัน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรสารสนเทศระหว่างห้องสมุดสร้างความหลากหลายของทรัพยากรสารสนเทศได้ สำหรับการขอรับบริจาคนั้นปัจจุบันมีองค์กรไม่แสวงหารายได้มีความประสงค์จะบริจาคหนังสือให้กับห้องสมุดสถาบันการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ห้องสมุดของคณะหรือศูนย์บรรณสารฯ ประหยัดงบประมาณจากการจัดซื้อจัดหาทรัพยากรสารสนเทศได้ทางหนึ่ง สามารถประสานงานขอรับบริจาคหนังสือได้จากมูลนิธิหนังสือเพื่อไทย สถาบันวิมุตตยาลัย องค์การยูเนสโก อุทยานการเรียนรู้ทีเคพาร์ค เป็นต้น

5. การคัดทรัพยากรสารสนเทศ พบว่ามีเพียงศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาที่มีการคัดทรัพยากรสารสนเทศที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่มีความจำเป็นออก เช่น หนังสือเก่า ชำรุดไม่สามารถซ่อมแซมได้หรือหนังสือที่ไม่มีคุณค่าทางวิชาการ ควรจะมีการคัดแยกเพื่อทำลายหรือจำหน่ายออก ซึ่งหนังสือเก่าจะเกิดเชื้อรามีกลิ่นเหม็นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการได้ นอกจากนั้น หนังสือที่มีจำนวนเล่มมากเกินความจำเป็นควรนำไปบริจาคให้กับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย หรือระหว่างสถาบันเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยากับองค์กรเหล่านั้น

6. การประเมินทรัพยากรสารสนเทศ พบว่ามีเพียงคณะพยาบาลศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ที่ไม่มีการประเมินทรัพยากรสารสนเทศ ผู้ปฏิบัติงานในการจัดซื้อควรประเมินทรัพยากรสารสนเทศว่าได้มีการเลือกและจัดหาตรงกับความต้องการหรือไม่ อาจจะดำเนินการจัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจ สัมภาษณ์ หรือสำรวจจากสถิติการเข้าใช้บริการทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อจะสามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศให้ตรงตามความต้องการและครอบคลุมเนื้อหาที่ผู้ใช้ต้องการได้มากขึ้น ก่อให้เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการและสถาบัน


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.



PULINET Journal : eISSN 2351- 048X
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
PULINET: Provincial University Library Network
pulinetjournal@gmail.com