แนวทางการจัดการวารสารฉบับล่วงเวลาของห้องสมุดมหาวิทยาลัย | Management Guideline of Back Issue’s Journal in University Library
Abstract
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการให้บริการ วิธีการจัดการ และการกำหนดแนวทางการจัดการวารสารฉบับล่วงเวลาของห้องสมุดมหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือผู้บริหารห้องสมุด จำนวน21คนและหัวหน้าฝ่ายวารสาร จำนวน23คนโดยสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นสมาชิกกลุ่มคณะทำงานฝ่ายวารสารและเอกสาร ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 25 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง โดยเก็บข้อมูลจากหัวหน้าฝ่ายวารสารก่อน แล้วจึงนำมาสร้างแบบสัมภาษณ์สำหรับผู้บริหารห้องสมุด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา(Content analysis) แล้วนำเสนอในรูปตาราง พร้อมแสดงค่าร้อยละ ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการให้บริการวารสารฉบับล่วงเวลาของห้องสมุดมหาวิทยาลัยมีดังนี้ (1) รูปแบบวารสารที่ให้บริการเป็นรูปแบบฉบับพิมพ์มากที่สุด รองลงมาคือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบไมโครฟิลม์/ไมโครฟิช และรูปแบบซีดีรอมตามลำดับ(2) ส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายการจัดการวารสารฉบับล่วงเวลา (3) ประเภทของวารสารที่จัดเก็บประกอบด้วย วารสารวิชาการ วารสารที่จัดทำดรรชนี วารสารที่ห้องสมุดจัดซื้อ วารสารที่อาจารย์เสนอแนะให้จัดเก็บ และวารสารที่ไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูล ตามลำดับ (4) เกณฑ์ในการพิจารณาจัดเก็บวารสารฉบับล่วงเวลาคือ กำหนดปีของวารสารที่จัดเก็บและสถิติการใช้ ตามลำดับ (5) จัดเก็บวารสารตามลำดับตัวอักษรของชื่อวารสาร (6) ส่วนใหญ่ไม่ได้แปลงรูปวารสารฉบับล่วงเวลา และ (7) ส่วนใหญ่มีห้องจัดเก็บโดยเฉพาะอยู่ภายในห้องสมุด
2. วิธีการจัดการวารสารฉบับล่วงเวลาของห้องสมุดมหาวิทยาลัยสรุปได้ดังนี้(1)ผู้บริหารห้องสมุดส่วนใหญ่เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บวารสารฉบับล่วงเวลาในรูปฉบับพิมพ์เอาไว้และ(2) กรณีที่ต้องจัดเก็บตัวเล่มนั้นจำเป็นต้องมีนโยบายการจัดการที่เป็นรูปธรรม โดยองค์ประกอบของนโยบายควรประกอบด้วยประเภทของวารสารที่จัดเก็บ ได้แก่ วารสารวิชาการ วารสารที่ทำดรรชนี และการพิจารณาเนื้อหาของวารสาร เช่น วารสารที่ทรงคุณค่า หรือวารสารของสถาบัน
3.แนวทางการจัดการวารสารฉบับล่วงเวลาของห้องสมุดมหาวิทยาลัยตามความคิดเห็นของผู้บริหารห้องสมุด สรุปได้ดังนี้
3.1 ด้านการบอกรับ ส่วนใหญ่เห็นว่าแนวโน้มเกี่ยวกับการบอกรับวารสารของห้องสมุดควรเป็นการสร้างภาคีการบอกรับฐานข้อมูลวารสารออนไลน์เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องงบประมาณ
3.2ด้านสถานที่จัดเก็บส่วนใหญ่เห็นว่าควรพัฒนาความร่วมมือในการจัดเก็บวารสารร่วมกันโดยให้ห้องสมุดที่มีฉบับ (holdings) ที่สมบูรณ์เป็นผู้จัดเก็บ มีบริการยืมระหว่างห้องสมุดและบริการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพนอกจากนี้ห้องสมุดแต่ละแห่งควรจัดทำคลังปัญญา (Institutional Repository) สำหรับจัดเก็บเฉพาะสิ่งพิมพ์และวารสารที่เป็นของมหาวิทยาลัยตนเองและไม่จำเป็นต้องเก็บรูปเล่มอีกต่อไป
3.3ด้านการแปลงรูปวารสารส่วนใหญ่เห็นว่าเมื่อห้องสมุดแปลงวารสารฉบับพิมพ์ให้อยู่ในรูปดิจิตอลและวารสารนั้นไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องเก็บตัวเล่มเอาไว้ ในกรณีวารสารที่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เมื่อแปลงรูปแล้วให้เก็บในรูปของซีดีรอมและอนุญาตให้ใช้ภายในห้องสมุดเท่านั้นหรือใช้เฉพาะภายในมหาวิทยาลัย (Intranet) นอกจากนี้ ควรมีตัวแทนซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางเพื่อเจรจาขออนุญาตสำนักพิมพ์ที่เป็นหน่วยงานราชการและเอกชนที่ไม่หวังผลกำไรให้สามารถแปลงรูปวารสารได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
4. ปัจจัยที่จะทำให้ความร่วมมือเพื่อช่วยให้การจัดการวารสารฉบับล่วงเวลาประสบผลสำเร็จส่วนใหญ่เห็นด้วยมากที่สุดคือ การที่ผู้บริหารมองเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือ รองลงมาคือ ความพร้อมของแต่ละห้องสมุดการกำหนดเงื่อนไขหรือกลไกการให้บริการและงบประมาณในการลงทุน ตามลำดับ
This research aims at studying the service, management method and management guideline of back issue’s journals among public university library. The sample consists of 21 library administrators and 23 periodical chiefs through purposive sampling from members in Thai Library Network Committee. Questionnaire items by periodical chiefs’ opinions are constructed as a constructed – interviews for library administrator. Then data are converted by content analysis and presented with percentage. The results revealed as follows:
1. In case of the service, it is found that most library had printed version, electronic version, microfilm/microfiche, and CD-ROM, respectively. Nevertheless, most of them have no managerial policy about the back issues. The preserved issues include academic journal, indexed journal, purchased journal, faculty suggestion, and ones that cannot find on the database, while they set their own preservation criteria as year duration and usage statistics and the journal titles are alphabetical arranged and put in library’ stored room
2. The management method used can be summarized as library administrator consider the importance of printed issues and should have written policy which includes type of journals such as academic journal, indexed journal, and its content as university journal or its value.
3. Back issue’ management guidelines by library administrator opinion are
3.1 Acquisition: Most of them consider to performing the online journal ‘s consortia that can be assisted for the limited budget.
3.2 Store space: Most of them agree to cooperate among library university with the complete holdings as a store place and lending the service through interlibrary-loan with effective delivery. Moreover, Institutional Repository (IR) is an alternative option for preserving university publications as well as journals without printed version’s preserving.
3.3 Digitization: Most of them consider not to preserve the printed ones in case there are no copyright problem, except it there are, let keep CD-ROM and service only in the library or Intranet system. Furthermore, there should have an agent to negotiate for the non-profit publisher or organization’s allowance of the digitization process.
4. Finally, factors affected the successfulness of back issue management’s cooperation include cooperation realization of library administrator, library readiness, service condition and budget, respectively.
Full Text:
PDFReferences
เดชดนัย จุ้ยชุม. (2554, มกราคม-เมษายน). วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Journal) : อีกหนึ่งทางเลือกของการให้บริการ. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์. 3(1):118-123.
นวพร สุริยะ. (2541). การจัดการงานวารสารในห้องสมุดแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.(บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ถ่ายเอกสาร.
ปิยะนาท สระสงคราม. (2541). บริการวารสารของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ถ่ายเอกสาร.
ศรีไพร โชติจิรวัฒนา. (2554, มกราคม). การจัดหาวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย. วารสารบรรณารักษศาสตร์. 31(1): 65-82.
สุดา หมัดอะดั้ม. (2543, กันยายน-ธันวาคม). การพัฒนาฐานข้อมูลวารสารเนื้อหาเต็ม. วารสารวิทยบริการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 14(3): 26-36.
Madarash-Hill. (2005). The use of JSTOR aggregator titles in an Academic library. Louisiana Libraries. Fall: 3-8.
Smith, A. Debbi. (2009). A journal back file overlap analysis: looking back to move forward. Library Collections, Acquisition & Technical Services. 33: 25-30.
Refbacks
- There are currently no refbacks.
PULINET Journal : eISSN 2351- 048X
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
PULINET: Provincial University Library Network
pulinetjournal@gmail.com