1 บริการสื่อการศึกษากับการเรียนการสอนบน MOOC : ประสบการณ์ ของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ | Media services for Learning on MOOC : CLM’s Experiences, Walailak University | พัสตราภรณ์ กาฬสิงห์ | PULINET Journal

บริการสื่อการศึกษากับการเรียนการสอนบน MOOC : ประสบการณ์ ของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ | Media services for Learning on MOOC : CLM’s Experiences, Walailak University

พัสตราภรณ์ กาฬสิงห์, ศิวนาถ นันทพิชัย, ไกรสร สายวารี, ปกรณ์ ดิษฐกิจ

Abstract


งานวิจัยและพัฒนาสื่อการศึกษา ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมมือกับศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา WU005 Pre-Cooperative Education บน thaimooc.org โดยมีนักเทคโนโลยีการศึกษาจำนวน 4 คน เป็นผู้ให้บริการและร่วมผลิตสื่อการศึกษากับอาจารย์ผู้สอน 10 คน ผลดำเนินงานแบ่งเป็น 4 ส่วนดังนี้ (1) ขั้นวางแผนงาน ประกอบด้วย จัดประชุมคณะทำงานเพื่อทำความเข้าใจ วางแผนกระบวนการทำงาน และจัดทำแผนการสอนแต่ละส่วน ได้แก่ กำหนดหัวข้อเนื้อหารายวิชา กำหนดรายละเอียดการเรียนรู้แต่ละชั่วโมงการเรียนรู้ จัดทำสื่อ กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ จัดทำแบบทดสอบ และกำหนดเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ เป็นต้น (2) ขั้นตอนการผลิตสื่อการศึกษาและให้บริการการเรียนการสอน ในขั้นนี้มีเนื้อหาการสอนจำนวน 15 ชั่วโมงการเรียนรู้ ซึ่งผู้ให้บริการสื่อการศึกษามีบทบาทสำคัญในการติดต่อประสานงานกับอาจารย์ผู้สอน การสรุปเนื้อหาการเรียนการสอนของอาจารย์ การออกแบบสื่อการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหา โดยจัดทำเป็น Flowchart และ Storyboard จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการผลิตและถ่ายทำสื่อการศึกษาอื่น ๆ (3) ขั้นการเผยแพร่บทเรียน เป็นการตรวจสอบความถูกต้องเพื่อเพิ่มรายวิชาในระบบ และทำการเปิดเรียนในระบบ Thai MOOC โดยผู้ให้บริการสื่อการศึกษาต้องร่วมมือกับผู้สอนในการดูแลการเรียนการสอนให้เป็นไปตามข้อกำหนด รวมทั้งตอบคำถามและแก้ปัญหาการเรียนของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนตลอดเวลา และ (4) ขั้นประเมินผลการจัดการเรียนการสอน หลังจากเปิดเรียนในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 พบว่า มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนออนไลน์ทั้งสิ้น 755 คน มีผู้เรียนที่มีส่วนร่วมในการเรียนทั้งหมด 658 คน (ร้อยละ 87.1) มีจำนวนคนที่เข้าบทเรียนสูงสุด (Active Learner) 666 คน (ร้อยละ 88.2) ผู้เรียนที่มีส่วนร่วมในการเรียนและผ่านเกณฑ์การประเมินจำนวน 608 คน (ร้อยละ 80.53) ผลการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบริการสื่อการศึกษาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญส่วนหนึ่งที่ห้องสมุดสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน และสามารถพัฒนาบทเรียนออนไลน์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตได้


Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.



PULINET Journal : eISSN 2351- 048X
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
PULINET: Provincial University Library Network
pulinetjournal@gmail.com